การผลักดันนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสิทธิ UCEP
ผลการศึกษาชี้ โรงพยาบาลเอกชนยังมีกำไรเฉลี่ยรวม 30.06 เปอร์เซ็นต์ แม้จะเข้าร่วมนโยบาย UCEP ด้านสภาผู้บริโภคเสนอรัฐควบคุมค่ารักษาพยาบาล และปรับเกณฑ์อาการเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤต (อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ : )
—–
วันนี้ (30 มกราคม 2566) สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเวทีเปิดเผยข้อมูลงานวิจัย “การผลักดันนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสิทธิ UCEP” ขึ้น เพื่อเสนอผลการวิจัยและข้อเสนอแนะต่อนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ในเรื่องสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ หรือ ยูเซป (UCEP) และหารือแนวทางออกแบบนโยบาย UCEP ให้ครอบคลุมผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างทั่วถึง และทันท่วงที โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามเจตนารมณ์ของโครงการ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ในปัจจุบัน
.
นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญ ด้านบริการสุขภาพ กล่าวว่า งานศึกษาเรื่อง ‘กลไกการจ่ายและการควบคุมอัตราการเบิกจ่ายค่าบริการกรณีการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ และผู้ป่วยฉุกเฉินหลังพ้น 72 ชั่วโมง’ พบว่า โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานครและจังหวัดขนาดใหญ่ เป็นตัวเลือกสำคัญของผู้บริโภคในการใช้บริการเมื่อเกิดความจำเป็น เนื่องจากโรงพยาบาลรัฐไม่เพียงพอ
.
และแม้โรงพยาบาลเอกชนจะเข้าร่วมนโยบาย UCEP ยังคงมีอัตราการทำกำไรขั้นต้นของโรงพยาบาลต่ำสุดร้อยละ 7 สูงสุดร้อยละ 50 และมีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 30.06 จึงมีเหตุผลเพียงพอที่เชื่อได้ว่าอัตราค่าบริการที่ประกาศใช้ในกรณี UCEP จะช่วยให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถให้บริการได้โดยไม่ขาดทุน และกลไกการจ่ายและการควบคุมอัตราการเบิกจ่ายค่าบริการกรณีการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและผู้ป่วยหลังพ้นวิกฤต 72 ชั่วโมง ในโรงพยาบาลเอกชนมีความจำเป็น
.
นอกจากนี้ งานศึกษายังชี้ให้เห็นว่าโรงพยาบาลเอกชนที่มีต้นทุนเฉลี่ยในการดูแลรักษาผู้ป่วย เช่น ค่ายา หรือ ค่ารักษาพยาบาล มากกว่าโรงพยาบาลรัฐถึง 5 เท่า ขณะที่ในความเป็นจริงราคาต้นทุนการจัดซื้อยาระหว่างโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐไม่มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ความเชื่อที่ว่าโรงพยาบาลเอกชนจัดซื้อยาได้แพงกว่าโรงพยาบาลของรัฐจึงไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
.
ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงประเด็นการใช้สิทธิ UCEP ว่า ที่ผ่านมามีปัญหา 3 ประการ คือ 1) ผู้บริโภคถูกเรียกเก็บเงินจากการเข้ารับการรักษาพยาบาลในภาวะวิกฤต โดยถูกวินิจฉัยว่าไม่ได้ฉุกเฉินจริง คือ ไม่ได้ช็อก หมดสติ ความดันไม่ได้สูงมาก ไข้ไม่ได้สูง หรือบางกรณีอาจไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นกรณีฉุกเฉินหรือไม่
.
2) ปัญหาภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลัง 72 ชั่วโมงที่เข้ารับการรักษาโดยใช้สิทธิ UCEP เนื่องจากพบกรณีที่ผู้ป่วยที่หาเตียงไม่ได้ ส่งตัวไม่ได้ หรือต้องอยู่โรงพยาบาลอีกเพียง 1 – 2 วัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าควบคุมค่ารักษาพยาบาลหลังพ้น 72 ชั่วโมงของสิทธิ UCEP ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้สภาผู้บริโภคได้เสนอให้กรมการค้าภายในช่วยกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว และ 3) การใช้สิทธิ UCEP นั้น จะใช้ได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในภาวะวิกฤตสีแดงเท่านั้น สิ่งที่ต้องคิดคือจะทำอย่างไรที่จะให้ผู้ป่วยสีส้ม สีเหลือง สามารถใช้สิทธิ UCEP ได้ด้วย
.
“สิ่งที่สภาผู้บริโภคอยากเห็น คือ การทำให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถให้บริการกับกลุ่มคนต่าง ๆ ได้มากขึ้น มีค่ารักษาพยาบาลที่เป็นธรรมกับผู้บริโภคมากขึ้น ส่วนกรณีผู้บริโภคที่ใช้สิทธิ UCEP ก็ไม่ควรถูกเรียกเก็บเงิน และควรขยายขอบเขตให้ผู้ป่วยสีส้มสามารถใช้สิทธิได้ด้วย รวมถึงประเด็นเรื่องหลังพ้น 72 ชั่วโมง จะบริหารจัดการระบบอย่างไร เพื่อให้ไม่เป็นภาระต่องบประมาณของแผ่นดิน” สารีระบุ
.
.
#สภาองค์กรของผู้บริโภค#สภาผู้บริโภค#ผู้บริโภค