ข่าวประชาสัมพันธ์

ฉลากอาหารต้องแสดงข้อมูลอะไรบ้าง

อาหารทุกประเภทที่มีการวางจำหน่ายในประเทศไทย ต้องมีฉลากที่แสดงข้อมูลสำคัญตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2557 เรื่องการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ที่สำคัญคือฉลากต้องแสดงข้อความเป็นภาษาไทย เพราะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคจำเป็นต้องรู้และเข้าใจ

อย่างน้อยในฉลากจะต้องมีข้อความแสดงรายละเอียด ดังต่อไปนี้

  • ชื่ออาหาร
  • เลขสารบบอาหาร ประกอบด้วย สัญลักษณ์ของ อย. ตามด้วย เลขทะเบียนที่ได้รับอนุญาต กำหนดให้ใช้ตัวเลขที่มีสีตัดกับสีพื้นของกรอบ มีขนาดไม่เล็กกว่า 2 มิลลิเมตร และสีของกรอบตัดกับสีพื้นของฉลาก
  • ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต หรือผู้แบ่งบรรจุ หรือผู้นำเข้า
  • ปริมาณสุทธิของอาหาร โดยใช้หน่วยเป็นระบบเมตริก
  • ส่วนประกอบที่สำคัญ เป็นร้อยละของน้ำหนักโดยประมาณเรียงตามลำดับปริมาณจากมากไปน้อยและอาจมี ฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (Guideline Daily Amounts) ด้วยก็ได้ ซึ่งการมีฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (Guideline Daily Amounts : GDA จะทำผู้บริโภคทราบข้อมูลรายละเอียดโภชนาการของอาหารนั้น ๆ และสามารถเลือกรับประทานได้ในปริมาณที่เหมาะสมควรมี
  • วัตถุเจือปนในอาหาร หากมีการใช้วัตถุกันเสีย / เจือสีธรรมชาติหรือสีสังเคราะห์ / แต่งกลิ่นธรรมชาติหรือกลิ่นสังเคราะห์ / แต่งรสธรรมชาติหรือรสเลียนธรรมชาติ ต้องระบุลงในฉลากด้วย
  • ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร
  • วันหมดอายุ โดยแสดงเป็นวัน เดือนและปี หรือเดือนและปี โดยมีข้อความว่า “ควรบริโภคก่อน” กํากับไว้ด้วย นอกจากการแสดงข้อความตามวรรคหนึ่ง อาจกําหนดให้แสดงข้อความ “ผลิต” หรือ “หมดอายุ” ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยอาหารนั้น

นอกจากข้อมูลที่กล่าวไปแล้ว ควรมีราคาของสินค้า (หน่วยบาท) ระบุไว้บนบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบและใช้เป็นข้อมูลประกอบในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า

หากผู้ประกอบการมีการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์โดยไม่มีการติดฉลากหรือฉลากมีข้อมูลที่ผิดพลาดนั้นจะมีความผิดตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 ผู้ใดขายสินค้าที่ควบคุมฉลากตามมาตรา 30 โดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง หรือขายสินค้าที่มีฉลากที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากสั่งเลิกใช้ตามมาตรา 33 ทั้งนี้ โดยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าการไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

พบปัญหาความบกพร่องของผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับฉลาก เช่น ไม่แสดงฉลากภาษาไทย แสดงฉลากไม่ครบถ้วน สามารถแจ้งร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ผ่านสายด่วน อย. 1556 หรือทางอีเมล 1556@fda.moph.go.th และสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนเข้ามายังสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ตามช่องทางด้านล่าง เพื่อที่ทาง สภาฯ จะดำเนินการประสานเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคต่อไป

ที่มา https://www.tcc.or.th/tcc_media/04092022_lable_artwork/

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *